เงื่อนไขการออกตั๋วโดยสาร

เงื่อนไขการออกตั๋วโดยสาร รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง)

1. นิยาม

“การเปลี่ยนถ่ายระบบ” หมายถึง การเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้า จากสายหนึ่งไปอีกสายหนึ่งที่สถานีเปลี่ยนถ่ายระบบ โดยใช้ตั๋วโดยสารใบเดียวกัน
“เขตชำระเงิน” หมายถึง บริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสาร ซึ่งเป็นพื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้าส่วนที่คนโดยสารได้ผ่านการตรวจตั๋วโดยสารแล้ว
“เด็ก” หมายถึง บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ โดยยึดวัน เดือน ปีเกิดที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน
“ตั๋วโดยสาร” หมายถึง บัตรเอกสาร วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสิ่งอื่นใดที่ใช้แสดงถึงสิทธิเพื่อใช้บริการโดยสารรถไฟฟ้า
“ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวปกติ” หมายถึง ตั๋วโดยสารที่สามารถใช้เดินทางได้ 1 เที่ยว ในระยะทางตามมูลค่าตั๋วโดยสาร
“ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวฟรี” หมายถึง ตั๋วโดยสารที่สามารถใช้เดินทางได้ 1 เที่ยว โดยได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร
“ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวลดหย่อน” หมายถึง ตั๋วโดยสารที่สามารถใช้เดินทางได้ 1 เที่ยว ในระยะทางตามมูลค่าตั๋วโดยสาร สำหรับผู้โดยสารที่ได้รับลดหย่อนค่าโดยสาร
“นักเรียน นักศึกษา” หมายถึง บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 23 ปีบริบูรณ์ โดยยึดวัน เดือน ปีเกิดที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้ จะต้องแสดงบัตรนักเรียน หรือบัตรนิสิต นักศึกษา พร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชน ต่อพนักงานของบริษัทเมื่อมีการร้องขอ
“บริษัท” หมายถึง บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด
“บัตรแรบบิท” หมายถึง บัตรหรือผลิตภัณฑ์อื่นใด ที่ผู้ออกบัตรกำหนดให้สามารถนำมาใช้เพื่อชำระสินค้าและบริการที่รองรับให้แก่ผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนร่วมใช้งานกับบัตรหรือผลิตภัณฑ์ของบุคคลอื่นที่เป็นไปตามมาตรฐานและระบบของแรบบิท
“ผู้สูงอายุ” หมายถึง บุคคลผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยยึดวัน เดือน ปีเกิดที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้ จะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานของบริษัทเมื่อมีการร้องขอ
“รถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู” หมายถึง โครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี
“รฟม.” หมายถึง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
“ระบบ” หรือ “รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง” หมายถึง โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์
“ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” หมายถึง ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (สายสีเขียว) ส่วนสัมปทาน (23.5 กิโลเมตร) และโครงการส่วนต่อขยายกรุงเทพมหานคร
“แรบบิทมาตรฐาน” หมายถึง แรบบิทที่บริษัทผู้ออกบัตร ออกให้ยืมแก่ผู้ถือแรบบิท โดยอาจเรียกเก็บค่ามัดจำแรบบิทจากผู้ถือแรบบิท
“แรบบิทธุรกิจ” หมายถึง แรบบิทที่บริษัทผู้ออกบัตร ออกและขายให้กับองค์กรอื่น เพื่อนำไปขาย จำหน่าย โอน ให้ หรือแจกจ่ายให้กับผู้ถือแรบบิทต่อไป
“แรบบิทพิเศษ” หมายถึง แรบบิทที่บริษัทผู้ออกบัตร ออกและขายในโอกาสต่างๆ ให้กับผู้ถือแรบบิทโดยตรง หรือขายให้กับองค์กรอื่น เพื่อนำไปขาย จำหน่าย โอน ให้ หรือแจกจ่ายให้กับผู้ถือแรบบิทต่อไป
“แรบบิทร่วม” หมายถึง บัตรหรือผลิตภัณฑ์อื่นใดที่ออกโดยบริษัทผู้ออกบัตรที่ได้รับอนุญาตโดยใช้มาตรฐานและระบบของแรบบิท โดยเป็นแรบบิทที่สามารถให้บริการอื่นตามที่ผู้ออกแรบบิทที่ได้รับอนุญาตนั้นกำหนดด้วย

2. บุคคลที่ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร และ บุคคลที่ได้รับการลดหย่อนค่าโดยสาร

  • 2.1 บุคคลดังต่อไปนี้จะได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร
    1. เด็กที่มีความสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร
    2. คนพิการที่ถือบัตรประจำตัวคนพิการ ที่ออกให้โดยทางราชการ (สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ)
  • 2.2 บุคคลดังต่อไปนี้จะได้รับการลดหย่อนค่าโดยสาร
    1. ผู้ที่มีสัญชาติไทย และมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยยึดวัน เดือน ปีเกิด ในบัตรประจำตัวประชาชน ให้มีอัตราค่าโดยสารกึ่งหนึ่งของอัตราค่าโดยสารตามที่กำหนดไว้

3. ประเภทของตั๋วโดยสาร และเงื่อนไขการใช้ตั๋วโดยสาร

  • 3.1 ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียว
    • 3.1.1 ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวปกติ (Single Journey Ticket _ Normal) ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวปกติ (Single Journey Ticket _ Normal) จากเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือจุดจำหน่ายตั๋วโดยสาร ตามเวลาที่บริษัทกำหนดไว้ในแนบท้ายประกาศนี้ หรือโดยวิธีการอื่นที่บริษัทกำหนด
    • 3.1.2 ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวฟรี (Single Journey Ticket _ Free) บุคคลที่ได้รับการยกเว้นค่าโดยสารตามข้อ 2.1 สามารถขอออกตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวฟรี (Single Journey Ticket _ Free) ได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารเท่านั้น
    • 3.1.3 ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวลดหย่อน (Single Journey Ticket _ Discount) บุคคลที่ได้รับการลดหย่อนค่าโดยสารตามข้อ 2.2 สามารถขอออกตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวลดหย่อน (Single Journey Ticket _ Discount) ได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารเท่านั้น
    • 3.1.4 ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวใช้สำหรับการเดินทางในระบบหนึ่งเที่ยว โดยมีมูลค่าเท่ากับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางที่ผู้โดยสารเลือกเมื่อทำการซื้อ หรือขอออกตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวจากเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือจุดจำหน่ายตั๋วโดยสาร
    • 3.1.5 ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวสามารถใช้เดินทางข้ามระบบจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ไปยังระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สายสีเขียว) หรือรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูได้ และสามารถเดินทางจากระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สายสีเขียว) หรือรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู มายังรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองได้
    • 3.1.6 ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวจะต้องใช้เดินทางภายในเวลาเปิดให้บริการของระบบของวันที่ออกตั๋วโดยสาร หากไม่ใช้เดินทางภายในเวลาดังกล่าวจะถือเป็นตั๋วโดยสารหมดอายุ (“ตั๋วโดยสารหมดอายุ”)
    • 3.1.7 ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวปกติ (Single Journey Ticket _ Normal) และตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวลดหย่อน (Single Journey Ticket _ Discount) สามารถแลกคืนเป็นเงินได้ตามจำนวนที่บันทึกเป็นรหัสไว้ในตั๋ว ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่เป็นที่สุดในกรณีดังต่อไปนี้
      • (ก) ในกรณีที่ผู้ถือตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวปกติ (Single Journey Ticket _ Normal) หรือตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวลดหย่อน (Single Journey Ticket _ Discount) อยู่นอกเขตชำระเงิน และยังไม่ได้เข้าสู่เขตชำระเงิน หรือ
      • (ข) ในกรณีที่ผู้ถือตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวปกติ (Single Journey Ticket _ Normal) หรือตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวลดหย่อน (Single Journey Ticket _ Discount) อยู่ในเขตชำระเงินและประสงค์จะออกจากเขตชำระเงินในสถานีเดียวกันภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที นับจากเวลาที่เข้ามาในเขตชำระเงิน โดยจะต้องขอแลกคืนในขณะที่อยู่ในเขตชำระเงิน
    • 3.1.8 การแลกคืนเงินตามข้อ 3.1.7 จะต้องกระทำภายในเวลาทำการของห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ตามที่กำหนดไว้ในแนบท้ายประกาศในวันที่ออกตั๋วโดยสารนั้น โดยจะต้องส่งมอบตั๋วโดยสารให้แก่พนักงานที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่บริษัทกำหนด ยกเว้นตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวฟรี (Single Journey Ticket _ Free) ไม่สามารถแลกคืนเป็นเงินได้
    • 3.1.9 การแลกคืนเงินตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวปกติ (Single Journey Ticket _ Normal) และตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวลดหย่อน (Single Journey Ticket _ Discount) ที่หมดอายุ สามารถคืนเงินได้ ภายใน 14 วัน นับจากวันที่ออกตั๋วโดยสาร และคืนได้ที่สถานีที่ออกตั๋วโดยสาร เท่านั้น
    • 3.1.10 ในกรณีที่มูลค่าของตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวต่ำกว่าหรือสูงกว่าอัตราค่าโดยสารที่ผู้โดยสารเดินทาง
      • (ก) ในกรณีที่มูลค่าของตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวต่ำกว่าอัตราค่าโดยสารที่ผู้โดยสารเดินทาง ผู้โดยสารจะต้องชำระค่าโดยสารส่วนต่างก่อนออกจากเขตชำระเงิน โดยชำระได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือสถานที่อื่นที่บริษัทกำหนด
      • (ข) ในกรณีที่มูลค่าของตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวสูงกว่าอัตราค่าโดยสารที่ผู้โดยสารเดินทาง ผู้โดยสารสามารถออกจากเขตชำระเงินได้ และไม่ได้รับคืนมูลค่าที่เกินจากอัตราค่าโดยสารที่ผู้โดยสารเดินทาง
    • 3.1.11 ผู้โดยสารที่ทำตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวชำรุดหรือเสียหายจนไม่สามารถใช้ผ่านออกจากประตูอัตโนมัติ จะต้องส่งคืนตั๋วโดยสารที่ชำรุดหรือเสียหายให้แก่พนักงานเพื่อทำการออกตั๋วโดยสารใบใหม่ให้ตามมูลค่าคงเหลือของตั๋วโดยสารใบที่ชำรุดหรือเสียหาย (เฉพาะกรณีที่สามารถตรวจสอบมูลค่าคงเหลือของตั๋วโดยสารที่ชำรุด หรือเสียหายได้เท่านั้น) สำหรับใช้ในการออกจากเขตชำระเงิน ทั้งนี้ การออกตั๋วโดยสารใบใหม่ดังกล่าวจะอยู่ในดุลยพินิจของบริษัทและเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่บริษัทกำหนด ในการนี้บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการออกตั๋วโดยสารใบใหม่ดังกล่าว
    • 3.1.12 ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวประเภทที่บริษัทแจกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้โดยสารในวาระ และ/หรือเงื่อนไขพิเศษ ไม่สามารถนำมาแลกหรือเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือ แลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าอื่น หรือออกตั๋วโดยสารแทนได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ
  • 3.2 บัตรแรบบิท
    • 3.2.1 บัตรแรบบิท (“แรบบิท”) มี 4 ประเภทหลัก ได้แก่
        (ก) แรบบิทมาตรฐาน
        (ข) แรบบิทธุรกิจ
        (ค) แรบบิทพิเศษ
        (ง) แรบบิทร่วม
        แรบบิทแต่ละประเภทหลักข้างต้น แยกเป็น 4 ประเภทรอง ได้แก่
        (1) แรบบิทสำหรับบุคคลทั่วไป
        (2) แรบบิทสำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้มีสิทธิใช้จะต้องเป็น “นักเรียน นักศึกษา”
        (3) แรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ ผู้มีสิทธิใช้จะต้องเป็น “ผู้สูงอายุ”
        (4) แรบบิทสำหรับเด็ก ผู้มีสิทธิใช้จะต้องเป็น “เด็ก”

        ทั้งนี้ เงื่อนไขผู้มีสิทธิใช้งาน และเบี้ยปรับกรณีใช้ผิดเงื่อนไข ให้เป็นไปตามตารางแนบท้ายประกาศ เรื่อง เงื่อนไขการใช้เที่ยวโดยสารเฉพาะในตั๋วโดยสารประเภทแรบบิท

    • 3.2.2 ประเภทของแรบบิท และการใช้งาน เป็นไปตามเงื่อนไขการออกแรบบิทของ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด หรือตามที่บริษัทกำหนด
    • 3.2.3 แรบบิท ประกอบด้วยหน่วยการชำระค่าโดยสาร 3 ประเภท ได้แก่
      • (ก) มูลค่าในแรบบิท ในที่นี้หมายถึงมูลค่าเงินในแรบบิท
        1. สามารถเพิ่มมูลค่าเงินในแรบบิทได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร ภายในเวลาทำการของสถานีและห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือสถานที่อื่นตามที่บริษัทกำหนด
        2. มูลค่าเงินในแรบบิทจะลดลงโดยอัตโนมัติตามอัตราค่าโดยสารของระยะทางที่ผู้โดยสารใช้เดินทาง และมูลค่าคงเหลือในแรบบิท ซึ่งไม่รวมเงินค่าธรรมเนียมการออกบัตร (issuing fee) และ/หรือค่ามัดจำบัตร (deposit) แรบบิท (ถ้ามี) จะแสดงเป็นจำนวนเงินที่บันทึกเป็นรหัสไว้ในแรบบิทซึ่งถือเป็นหลักฐานที่เป็นที่สุด มูลค่าคงเหลือของแรบบิทจะแสดงบนประตูอัตโนมัติเมื่อผู้โดยสารจะออกจากเขตชำระเงิน
        3. บัตรแรบบิทต้องมีมูลค่าเงินในบัตรแรบบิทไม่ต่ำกว่าค่าโดยสารต่ำสุดของระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ที่ประกาศเรียกเก็บ เพื่อเดินทางเข้าระบบ และหากผู้โดยสารเดินทางไกลกว่ามูลค่าเงินในแรบบิท มูลค่าเงินในแรบบิทคงเหลือจะแสดงเป็นจำนวนมูลค่าติดลบ ผู้โดยสารสามารถเดินทางออกจากเขตชำระเงินได้ แต่แรบบิทนั้นจะไม่สามารถนำมาใช้เดินทางได้อีก เว้นแต่จะนำแรบบิทดังกล่าวนี้ไปเพิ่มมูลค่าเงิน ณ ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือที่เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร ภายในเวลาทำการของสถานีและห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือสถานที่อื่นตามที่บริษัทกำหนด
        4. แรบบิทที่ยังไม่หมดอายุการใช้งานสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าเงินได้ตามที่ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด กำหนด
        5. ในกรณีที่ผู้ถือบัตรแรบบิทอยู่ในเขตชำระเงินและประสงค์จะออกจากเขตชำระเงินในสถานีเดียวกันภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที นับจากเวลาที่เข้ามาในเขตชำระเงิน สามารถติดต่อพนักงานขณะที่อยู่ในเขตชำระเงิน เพื่อปรับสถานะบัตรโดยสารให้ออกจากระบบได้โดยไม่หักมูลค่าเงินในบัตรแรบบิท
        6. การแลกคืนมูลค่า และ/หรือเงินมัดจำในแรบบิท (ถ้ามี) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการออกแรบบิท ที่ออกโดย บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด ทั้งนี้ การแลกคืนมูลค่า และ/หรือเงินมัดจำในแรบบิทจะทำให้ไม่สามารถขอคืนเที่ยวโดยสารเฉพาะคงเหลือในแรบบิท หรือขอคืนเที่ยวโดยสารร่วมคงเหลือในแรบบิท หรือแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วโดยสารใหม่ หรือโอนไปยังตั๋วโดยสารใบอื่น หรือแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าอื่นใดได้ ไม่ว่ากรณีใด
      • (ข) เที่ยวโดยสารเฉพาะรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง
        1. สามารถเติมหรือแลกเที่ยวโดยสารเฉพาะลงในแรบบิทตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด ได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารภายในเวลาทำการของห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ตามที่กำหนดไว้ในแนบท้ายประกาศ เรื่อง เวลาทำการ, เขตชำระเงิน และเบี้ยปรับ หรือสถานที่อื่นที่บริษัทกำหนด
        2. ต้องนำเที่ยวโดยสารเฉพาะมาใช้เดินทางในระบบภายใน 45 วัน นับจากวันที่เติมเที่ยวการเดินทาง หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว เที่ยวการเดินทางในแรบบิทจะถูกลบออกไปไม่สามารถนำมาใช้เดินทางได้อีก และจะต้องนำแรบบิทไปเติมเที่ยวเดินทางใหม่จึงจะสามารถใช้เดินทางได้
        3. ใช้เดินทางได้ตามจำนวนเที่ยวโดยสารเฉพาะที่เติม หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ใช้เดินทางครั้งแรก แล้วแต่กรณีใดจะถึงกำหนดก่อนโดยไม่จำกัดระยะทางที่เดินทาง หากพ้นอายุการใช้งานจะไม่สามารถใช้แรบบิทเดินทางในระบบได้ และจำนวนเที่ยวโดยสารเฉพาะคงเหลือของแรบบิทจะไม่สามารถขอคืน หรือแลกเปลี่ยนเป็นแรบบิทใหม่ หรือโอนไปยังแรบบิทใบอื่น หรือแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าอื่นใดได้
        4. สามารถนำแรบบิทเดิมที่ยังไม่หมดอายุ มาเติมเที่ยวโดยสารเฉพาะได้ โดยจะต้องเติมเที่ยวตามจำนวน และวิธีการที่บริษัทกำหนด
        5. เที่ยวโดยสารเฉพาะในแรบบิทไม่สามารถแลกคืนเป็นเงินได้ไม่ว่ากรณีใดๆ
        6. ในกรณีที่เดินทางในระบบด้วยแรบบิทที่มีทั้ง “มูลค่าในแรบบิท” และ “เที่ยวโดยสารเฉพาะ” ระบบจะคำนวณและชำระค่าโดยสารโดยหักจาก “เที่ยวโดยสาร เฉพาะ” ในแรบบิทก่อน หากจำนวน “เที่ยวโดยสารเฉพาะ” ในแรบบิทหมด ระบบจะทำการชำระค่าโดยสารโดยหักจาก “มูลค่าในแรบบิท” ตามลำดับ
      • (ค) เที่ยวโดยสารร่วม หมายถึง เที่ยวการเดินทางในระบบ ร่วมกับระบบขนส่งอื่นในอนาคต ตามเงื่อนไขที่บริษัท และ/หรือคู่ค้าของบริษัทกำหนด
    • 3.2.4 บริษัทมีสิทธิหักจำนวนเงินเบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ผู้โดยสารจะต้องชำระออกจาก “มูลค่าในแรบบิท” ได้ ตามเงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในตารางแนบท้ายประกาศ เรื่อง เวลาทำการ, เขตชำระเงิน และเบี้ยปรับ
    • 3.2.5 ในกรณีที่ผู้โดยสารทำแรบบิทชำรุด หรือเสียหายในเขตชำระเงินจนไม่สามารถผ่านออกประตูอัตโนมัติ ผู้โดยสารจะต้องชำระค่าโดยสารตามเงื่อนไข และวิธีการที่บริษัทกำหนด ส่วนแรบบิทที่ชำรุด และเสียหายให้ดำเนินการตาม “เงื่อนไขการออกแรบบิท” ที่ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด เป็นผู้กำหนด
    • 3.2.6 กรณีที่มีข้อสงสัยว่าแรบบิทใดเป็นแรบบิทที่สูญหายหรือเป็นแรบบิทที่ถูกขโมย หรือในกรณีที่บริษัทมีหลักฐานยืนยันพฤติกรรมการใช้ว่าเป็นที่ต้องสงสัย พนักงานของ บริษัท ตัวแทนที่ได้รับอนุญาตจากบริษัท และผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต มีสิทธิที่จะตรวจสอบแรบบิท ตลอดจนข้อมูลในแรบบิท รวมทั้งยึดแรบบิทจากผู้ถือแรบบิทได้
    • 3.2.7 ผู้โดยสารที่ทำแรบบิทสูญหาย ต้องการระงับการใช้งานแรบบิท และ/หรือผู้โดยสารที่ต้องการขอคืนมูลค่าเงินในแรบบิท ต้องปฏิบัติตาม “เงื่อนไขการออกแรบบิท” ที่ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด เป็นผู้กำหนด ทั้งนี้การรับผิดชอบต่อการสูญหายและความเสียหายของ “มูลค่าในแรบบิท” “เที่ยวโดยสารเฉพาะ” และ “เที่ยวโดยสารร่วม” ในแรบบิทลงทะเบียนนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดของ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด
    • ข้อแนะนำ : ผู้โดยสารควรอ่านทำความเข้าใจเงื่อนไขการออกและใช้แรบบิท โดยสแกนคิวอาร์โค้ด
      หรือ www.rabbit.co.th หรือ โทร 02-617-8383

  • 3.3 ตั๋วโดยสารอื่นๆ
  • บริษัทอาจจัดให้มีตั๋วโดยสารอื่นๆ และ/หรือรับชำระค่าโดยสารผ่านตั๋วโดยสารประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขที่บริษัทจะประกาศให้ทราบผ่านคิวอาร์โค้ด และ/หรือประกาศให้ทราบโดยทั่วกันที่สถานี

4. ตั๋วโดยสาร 1 ใบ สำหรับผู้โดยสารใช้ 1 ท่าน

5. เว้นแต่ที่ระบุไว้ในข้อ 3.1.7 ผู้โดยสารท่านใดเข้าอยู่ในเขตชำระเงินและออกจากเขตชำระเงินในสถานีเดียวกันจะต้องชำระค่าโดยสารในอัตราค่าโดยสารตามที่บริษัทกำหนด ไว้ในแนบท้ายประกาศ

6. ผู้โดยสารท่านใดเข้าอยู่ในเขตชำระเงินเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดแนบท้ายประกาศ จะต้องชำระเบี้ยปรับกรณีเกินเวลาตามอัตราที่กำหนด

7. ผู้โดยสารที่ทำตั๋วโดยสารหายในเขตชำระเงินจะต้องชำระเบี้ยปรับให้แก่บริษัทก่อนออกจากเขตชำระเงินตามอัตราและวิธีการที่บริษัทกำหนด

8. การเข้าหรือออกจากเขตชำระเงินจะบันทึกเป็นลำดับไว้ในตั๋วโดยสารซึ่งถือเป็นหลักฐานที่เป็นที่สุด ตั๋วโดยสารที่มีการบันทึกการเข้าในเขตชำระเงินจะต้องมี

บันทึกการออกจากเขตชำระเงินในแต่ละเที่ยวของการเดินทางควบคู่กันไป ผู้โดยสารที่ใช้ตั๋วโดยสารในกรณีดังต่อไปนี้ เช่น มีบันทึกการเข้าในเขตชำระเงินเท่านั้น

แต่ไม่มีบันทึกการออกจากเขตชำระเงิน หรือในทางกลับกัน หรือใช้ตั๋วโดยสารเพื่อการเข้ามายังเขตชำระเงินหรือออกจากเขตชำระเงินซ้ำสองครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัท

มีสิทธิเรียกให้ผู้โดยสารชำระเบี้ยปรับสำหรับการใช้ตั๋วโดยสารไม่ถูกต้องตามลำดับการใช้ดังกล่าวได้ตามอัตราและวิธีการที่บริษัทกำหนด

9. ผู้โดยสารในเขตชำระเงินต้องแสดงตั๋วโดยสารเพื่อตรวจสอบตามที่ได้รับคำร้องขอจากพนักงาน หากฝ่าฝืนจะถือว่าไม่ได้ชำระค่าโดยสารและต้องรับผิดชอบในการชำระเบี้ยปรับ

10. บริษัทจะดำเนินคดีกับบุคคลที่ใช้ตั๋วโดยสารโดยมิชอบ หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขการออกตั๋วโดยสาร และในกรณีที่บริษัทเห็นว่าจำเป็นต้องมี

การสอบสวน บริษัทสงวนสิทธิ์ในการริบตั๋วโดยสารโดยไม่ต้องคืนมูลค่าคงเหลือในตั๋วโดยสาร

11. บริษัทจะไม่รับรองความถูกต้องสมบูรณ์ของตั๋วโดยสารที่ไม่ได้ออกโดยบริษัท หรือโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากบริษัท

12. บริษัทสงวนสิทธิ์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการออกตั๋วโดยสารและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการขอออกตั๋วโดยสารใบใหม่แทนตั๋วโดยสารที่ชำรุดเสียหายทุกกรณี

13. บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการออกตั๋วโดยสาร โดยบริษัทจะประกาศให้ทราบถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นคราวๆ ไป

14. ผู้โดยสารที่ทำตั๋วโดยสารหาย บริษัทจะไม่ทำการอายัดหรือชดเชยจำนวนเที่ยวเดินทาง หรือมูลค่าคงเหลือในตั๋วโดยสาร ไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

ตารางแนบท้าย เรื่อง เวลาทำการ, เขตชำระเงิน และเบี้ยปรับ

ตารางที่ 1. เวลาทำการ

ข้อที่อ้างถึง เรื่อง เวลา
  เวลาให้บริการของสถานี 06.00 น. ถึง 24.00 น.
3.1.1 เวลาทำการของเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร
3.1.6 เวลาให้บริการของรถไฟฟ้า
3.1.8
3.2.3(ก)(1) และ
3.2.3(ข)(1)
เวลาทำการของห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร

ตารางที่ 2. การเข้าอยู่ในเขตชำระเงินและออกจากเขตชำระเงินในสถานีเดียวกัน

ข้อที่อ้างถึง ประเภทตั๋วที่ใช้เดินทาง อัตราค่าโดยสาร
5 - ตั๋วเที่ยวเดียว
- แรบบิท กรณีใช้มูลค่าในแรบบิท
อัตราค่าโดยสารต่ำสุดที่ประกาศเรียกเก็บ
- แรบบิท กรณีใช้เที่ยวโดยสารเฉพาะ เท่ากับใช้เดินทางในระบบ 1 เที่ยว

ตารางที่ 3. ระยะเวลาที่กำหนดให้อยู่ภายในเขตชำระเงิน และเบี้ยปรับกรณีเกินเวลา

ข้อที่อ้างถึง ระยะที่อยู่ในเขตชำระเงินจะต้องไม่เกิน เบี้ยปรับกรณีเกินเวลา
6 300 นาที (คำนวณจากข้อมูลที่บันทึกอยู่ในตั๋ว) อัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ประกาศเรียกเก็บ

ตารางที่ 4. เบี้ยปรับ

ข้อที่อ้างถึง กรณี เบี้ยปรับ
7 ตั๋วโดยสารหายในเขตชำระเงิน อัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ประกาศเรียกเก็บ ณ ขณะนั้นของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง
8 บันทึกการเดินทางเข้า-ออกระบบไม่ครบ
9 ไม่ชำระค่าโดยสาร ไม่เกิน 30 เท่าของอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่เรียกเก็บ ณ ขณะนั้น ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง
3 และ 3.2.1 ใช้ตั๋วโดยสารผิดประเภท ไม่เกิน 30 เท่าของอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่เรียกเก็บ ณ ขณะนั้น ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง
ตั๋วโดยสารชำรุดเสียหาย ในเขตชำระเงิน อัตราค่าโดยสารสูงสุดที่เรียกเก็บ ณ ขณะนั้น ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง
เดินทางไม่ถูกต้องตามลำดับการใช้งาน อัตราค่าโดยสารสูงสุดที่เรียกเก็บ ณ ขณะนั้น ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง
ไม่ใช้ตั๋วโดยสารใบเดียวกัน ในการเดินทาง (ใช้ตั๋วคนละใบในการแตะเข้า-ออก) อัตราค่าโดยสารสูงสุดที่เรียกเก็บ ณ ขณะนั้น ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง
เดินทางหรือให้ผู้อื่นใช้ตั๋วโดยสารเดินทาง โดยใช้ตั๋วโดยสารผิดกฎหมาย หรือผิดเงื่อนไขการใช้งาน มีผลให้ชำระค่าโดยสารไม่เต็มจำนวน ไม่เกิน 30 เท่าของอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่เรียกเก็บ ณ ขณะนั้น ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง
เดินทางในระบบโดยไม่ใช้ตั๋วโดยสาร มีผลให้ไม่ได้ชำระค่าโดยสาร ไม่เกิน 30 เท่าของอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่เรียกเก็บ ณ ขณะนั้น ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง

ตารางแนบท้าย เรื่อง เงื่อนไขการใช้เที่ยวโดยสารเฉพาะในแรบบิท

ข้อที่อ้างถึง ประเภท เงื่อนไขการใช้ เบี้ยปรับกรณีใช้ตั๋วผิดเงื่อนไขการใช้
3.2 แรบบิท สำหรับบุคคลทั่วไป ผู้มีสิทธิใช้ ได้แก่ บุคคลทั่วไป  
แรบบิท สำหรับนักเรียน-นักศึกษา ผู้มีสิทธิใช้ ได้แก่ นักเรียน-นักศึกษาอายุไม่เกิน 23 ปี โดยยึดวัน เดือน ปีเกิดในบัตรประจำตัวประชาชน รายละเอียดตามเงื่อนไขการใช้แรบบิทสำหรับนักเรียน-นักศึกษา ทั้งนี้ ผู้ใช้แรบบิทจะต้องแสดงบัตรนักเรียนหรือบัตรนิสิต นักศึกษาพร้อมทั้งบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานของบริษัทเมื่อมีการร้องขอ ผู้ใดใช้แรบบิทโดยมิชอบ หรือไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจะถือว่าไม่ได้ชำระค่าโดยสาร บริษัทสงวนสิทธิ์เรียกให้ผู้ใช้แรบบิทชำระค่าปรับในอัตราไม่เกิน 30 เท่า ของอัตราค่าโดยสารสูงสุด และริบแรบบิทโดยไม่จำเป็นต้องคืนเงินมูลค่าคงเหลือในแรบบิท
แรบบิท สำหรับผู้สูงอายุ ผู้มีสิทธิใช้ ได้แก่ บุคคลซึ่งมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยยึดวัน เดือน ปีเกิดในบัตรประจำตัวประชาชน รายละเอียดตามเงื่อนไขการใช้แรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ผู้ใช้แรบบิท จะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานของบริษัทเมื่อมีการร้องขอ ผู้ใดใช้แรบบิทโดยมิชอบ หรือไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจะถือว่าไม่ได้ชำระค่าโดยสาร บริษัทสงวนสิทธิ์เรียกให้ผู้ใช้แรบบิทชำระค่าปรับในอัตราไม่เกิน 30 เท่า ของอัตราค่าโดยสารสูงสุด และริบแรบบิทโดยไม่จำเป็นต้องคืนเงินมูลค่าคงเหลือในแรบบิท
แรบบิท สำหรับเด็ก ผู้มีสิทธิใช้ ได้แก่ เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ โดยยึดวัน เดือน ปีเกิดในบัตรประจำตัวประชาชน รายละเอียดตามเงื่อนไขการใช้แรบบิทสำหรับเด็ก ทั้งนี้ ผู้ใช้แรบบิท จะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานของบริษัทเมื่อมีการร้องขอ ผู้ใดใช้แรบบิทโดยมิชอบ หรือไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจะถือว่าไม่ได้ชำระค่าโดยสาร บริษัทสงวนสิทธิ์เรียกให้ผู้ใช้แรบบิทชำระค่าปรับในอัตราไม่เกิน 30 เท่า ของอัตราค่าโดยสารสูงสุด และริบแรบบิทโดยไม่จำเป็นต้องคืนเงินมูลค่าคงเหลือในแรบบิท