ประวัติความเป็นมา

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง)
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าลงนามในสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) (ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี) กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัทย่อยนี้ก่อตั้งขึ้นมาจากกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรักชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 75%, 15% และ 10% ตามลำดับ

โดยโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง)เป็นโครงการสัมปทานในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) net cost ระยะเวลา 30 ปี และบริษัทดังกล่าวได้รับหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice- to-Proceed) สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง)จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเมื่อ วันที่ 29 มิถุนายน 2561 ซึ่งนับเป็นวันแรกของการก่อสร้าง และได้พิจารณาว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ปัจจุบันรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) เปิดทดลองให้บริการครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2566 และให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคม 2566